ไอกรน โรคร้ายใกล้ตัวที่อันตรายถึงชีวิต




ไอกรนเป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่ไม่ได้มีแค่เด็กเท่านั้นที่เป็นได้ แต่ยังพบได้ในผู้ใหญ่ด้วย โดยมีแบคทีเรียเป็นตัวการสำคัญที่คอยหลบซ่อนอยู่ตามละอองฝอยที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ บริเวณที่มีคนแออัดจำนวนมาก หรือสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย โดยอาการจะเริ่มแสดงหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 7-10 วัน ซึ่งอาการในผู้ใหญ่จะไม่รุนแรงมากนัก แต่ในเด็กเล็กอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ระยะอาการของโรคไอกรน
โรคไอกรนแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 ระยะน้ำมูกหรือระยะเฉียบพลัน
ในระยะนี้อาการจะคล้ายกับเป็นหวัดธรรมดามากๆ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอเล็กน้อย มีไข้ต่ำ ตาแดง น้ำตาไหล ไม่มีอาการไอเป็นชุด ระยะนี้จะกินเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์
ระยะที่ 2 ระยะไอรุนแรงหรือระยะกึ่งพักฟื้น
อาการไอจะเริ่มรุนแรงขึ้น ไอเป็นชุดๆ มีเสียงหายใจเข้าลึกๆ คล้ายเสียง "วู้ป" ติดต่อกัน 5-10 ครั้ง แล้วตามด้วยเสียงหายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียงวู้ป หลังจากนั้นจึงจะหยุดไอ อาการแบบนี้จะสลับกันไปมาเป็นชุดๆ ระยะนี้จะกินเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์
ระยะที่ 3 ระยะพักฟื้น
อาการไอจะเริ่มลดความรุนแรงลง แต่ยังคงมีอาการไอเป็นชุดๆ แต่จะไม่บ่อยเท่าระยะก่อนหน้า อาจจะไอเป็นชุดละ 1-2 ครั้งเท่านั้น ระยะนี้จะกินเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์
ไอกรนอันตรายถึงชีวิต
โรคไอกรนในผู้ใหญ่ส่วนใหญ่อาจไม่มีอาการรุนแรงมากนัก แต่ในเด็กเล็กอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เนื่องจากเด็กเล็กยังมีทางเดินหายใจที่มีขนาดเล็ก เมื่อมีอาการไอเป็นชุดๆ อย่างต่อเนื่องจึงทำให้เด็กหายใจลำบาก อาจมีอาการหน้าเขียว หายใจไม่ออก ชัก และอาจทำให้เสียชีวิตได้
ป้องกันไอกรนอย่างไร
การป้องกันโรคไอกรนที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีน โดยวัคซีนไอกรนเป็นวัคซีนที่รวมอยู่ในวัคซีนรวม 5 ชนิด ได้แก่ คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน บาดทะยัก และโปลิโอ ซึ่งมีการฉีดตั้งแต่ในเด็กทารก และต้องฉีดกระตุ้นตามกำหนดอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังควรป้องกันตัวเองโดยการสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่ชุมชนหรือที่ที่มีคนแออัด ล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่กำลังไอหรือมีน้ำมูก